บทความที่ |
ผู้อ่านส่งมาบ้าง |
ผู้อ่านไม่ได้ส่งมาบ้าง |
ก้อลอกๆเขามาให้อ่าน |
รู้ไว้ไม่บูดเน่า |
ส่ง ๆ มาอิกนะจ๊ะ |
|
|
ี้บทเรียนซ้ำซากจากการเกิดเพลิงไหม้

โดย นายพิชญะ จันทรานุวัฒน์
ประธานคณะกรรมการความปลอดภัยด้านอัคคีภัย
วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์
17 สิงหาคม 2547
สัปดาห์ที่ผ่านมามีเหตุการณ์เพลิงไหม้หลายเหตุการณ์ และมีการสูญเสียชีวิตไปหลายชีวิต ไม่ว่าจะเป็นไฟไหม้อาคาร 7 ชั้นที่ซอยวัดตะพาน ราชปรารภ โรงงานถุงพลาสติกแถวแม้นศรี รวมทั้งถังน้ำมันเตาระเบิด ที่แก่งคอย ทุกเหตุการณ์ล้วนแล้วเป็นบทเรียนที่ซ้ำซากทั้งนั้น เกิดซ้ำแล้วซ้ำอีกแต่หาเจ้าภาพที่รับผิดชอบไม่ได้ ไปโทษระบบไฟฟ้า แต่ก็ยังสงสัยไม่หายว่าทำไมการไฟฟ้าทั้งนครหลวงและภูมิภาคจึงนิ่งเฉยทุกครั้ง ผมว่าต้องคิดประเด็นนี้กันให้ดีครับ หรือไปโทษเกิดจากความประมาท ผมว่าประเด็นนี้ ทุกคนก็ทำอะไรพลาดกันได้นะหรือว่ามีมนุษย์คนไหนไม่เคยทำอะไรที่ผิดพลาดจากความประมาทครับ มีกันทุกคนล่ะครับ อีกประเด็นที่ว่า กทม มาถึงที่เกิดเหตุช้าตามเคย จะว่ากันได้หรือ มันมีข้อจำกัดมากมายเหลือเกินรวมทั้งยังใหม่ๆกันอยู่เลย ทั้งองค์กรและตัวบุคคล ก็ต้องให้เวลาพวกเขาครับ และอีกเรื่องหนึ่งก็คือเฮลิคอปเตอร์อีกแล้วเป็นฮีโร่ครับในสายตาประชาชน เอาล่ะไม่ว่ากันแต่นั่นมันเป็นการแก้ที่ปลายเหตุแล้ว ไม่อยากวิจารณ์อะไรมาก จะทำให้พวกเขาเหล่านั้นท้อแท้ไม่มีกำลังใจทั้งๆที่เป็นผู้เสียสละและเสี่ยงตาย ขอมาดูที่ต้นเหตุดีกว่า มุมของวิศวกรต้องแก้กันที่ต้นเหตุการเสียชีวิตดีกว่าครับ เพราะสามารถแก้ปัญหาได้ตรงจุดมากที่สุด การป้องกันและการเตรียมความพร้อมเป็นหนทางเดียวที่จะลดความสูญเสียจากเหตุเพลิงไหม้ได้มากที่สุด ถึงแม้ว่าบางครั้งเกิดจากความประมาทของผู้ปฏิบัติงานก็ตาม ลองมาดูทีละเหตุการณ์ดีกว่า
อาคาร 7 ชั้น ในซอยวัดตะพาน ราชปรารภ นั้น เท่าที่ทราบเจ้าของอาคารนั้นมีฐานะดีอยู่ในขั้นเศรษฐีเลยทีเดียว ผมคิดว่าเขาไม่รู้หรอกว่าอาคารที่เขาและครอบครัวอาศัยกันอยู่นั้นอันตรายมากน้อยแค่ไหนครับ ดูเบื้องต้นก็เหมือนว่าไม่มีอะไรผิดกฎหมายควบคุมอาคาร เขาคงไม่รู้ว่าจะป้องกันอันตรายจากเพลิงไหม้ได้อย่างไร ผมว่ามีเฉพาะวิศวกร พนักงานดับเพลิง และเจ้าหน้าที่รัฐเท่านั้นที่มีความรู้ในเรื่องนี้ แต่ไม่มีโอกาสได้ไปให้ข้อแนะนำ ทุกฝ่ายคงต้องขยันทำงานกันครับ รวมทั้งหามาตรการมาแก้ไขปัญหานี้ ในฐานะวิศวกรที่ศึกษามาด้านนี้ กรณีนี้จะไม่เกิดการสูญเสียชีวิตเลยถ้าอาคารมีมาตรการการป้องกันเพียง 2 ประการเท่านั้น ดังนี้
- ติดตั้งอุปกรณ์ตรวจจับควันไฟ ทุกห้อง ทุกชั้น
- บันไดทุกชุดปิดล้อมทุกชั้น (เป็นป้องกันความร้อนและควันลามในแนวดิ่ง ในขณะที่ช่วยทำให้บันไดหนีไฟมีความปลอดภัยมากขึ้นด้วย)
เพียงแค่นี้ลงทุนไม่กี่หมื่นบาทก็จะไม่เกิดความสูญเสียชีวิตแล้ว อาคารจะไหม้ก็ไม่ไปนั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ถ้าจะรักษาอาคารไว้ก็ต้องมีระบบดับเพลิงเช่น ระบบสปริงเกอร์ สายฉีดน้ำดับเพลิง เป็นต้นแต่ต้องลงทุนเยอะ หากคุ้มค่ากับการรักษาทรัพย์สินรวมทั้งอาคารก็อาจลงทุนได้ครับ ตรงนี้อยู่ที่วิศวกรจะแนะนำ
อาคารโรงงานแถวแม้นศรี ก็อีกเช่นกันไม่ได้ทำอะไรผิดกฎหมายโรงงานฯ และกฎหมายควบคุมอาคารเพราะเป็นห้องแถว หากผู้ประกอบการมีความรู้วิธีป้องกันอันตรายจากการใช้ของเหลวไวไฟ ก็คงจะช่วยไม่ให้เกิดการสูญเสียได้เช่นกัน อาทิ การติดตั้งอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ได้มาตรฐาน การใช้ถาดรองป้องกันการไหลออกเป็นวงกว้าง การใช้ภาชนะในการขนถ่ายที่ได้มาตรฐาน เป็นต้น ถ้าได้รับการแวะเวียนเยี่ยมจากผู้รับผิดชอบก็คงแก้ปัญหาได้ในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตามอย่างที่หลายคนว่าคนไทยส่วนใหญ่จะชอบเสี่ยงตั้งอยู่บนความประมาท หากเป็นจริงวิธีนี้ก็คงแก้ไขไม่ได้มากนัก นอกจากใช้กฎหมายในการบังคับ แล้วจะทำอย่างไรล่ะในเมื่ออาคารที่กล่าวมานี้ไม่มีอะไรที่ผิดตามกฎหมายโรงงานฯ และกฎหมายควบคุมอาคาร ตรงนี้ไว้ตอนท้ายจะมีข้อเสนอแนะในการปรับปรุงกฎหมาย
ส่วนกรณีสุดท้ายโรงงานที่แก่งคอย มีข้อมูลไม่มากแต่ปัญหานี้เกิดซ้ำซาก งานเชื่อมงานตัดที่ทำให้เกิดประกายไฟหรือความร้อน ภาษาช่างเรียกว่า งาน hot work ทางวิชาการจะมีขั้นตอนการทำงานตรงนี้เป็นมาตรฐานเลย เริ่มตั้งแต่การขออนุญาตทำงาน (hot work permit) การเตรียมการก่อนเริ่มงาน (site preparation) การเฝ้า
ระวัง(fire watch) และการป้องกันระหว่างการทำงาน (protection) นอกจากนี้ต้องมีการอบรมคนงานก่อนเริ่มงานวันแรกที่เริ่มงานว่าภายในโรงงานนี้มีอันตรายอะไร
อยู่บ้าง ที่ไหน ข้อควรปฏิบัติมีอะไรบ้าง ดูจากเหตุการณ์คนงานนั้นไม่รู้ว่ามีอะไรที่สามารถทำให้เกิดอันตรายได้ในถังใบนั้น มันเกิดอะไรขึ้นไม่ทราบ ต้องรอผลการสอบสวน
ต่อไปครับ
ข้อแนะนำข้างต้นเหมือนจะปฎิบัติยากจะเอาอะไรกับคนที่ตั้งอยู่บนความประมาท บอกก็แล้ว เตือนก็แล้ว ขู่เอาผิดก็แล้ว พวกเจ้าของอาคารไม่กลัว อย่างกรณีหลังเจ้าของ
ไม่ได้ลงมือเอง มีคนงานไปทำแทน แต่ที่ซอยวัดตะพาน และที่แม้นศรีเจ้าของเสียหายโดยตรง ทั้งสองกรณีเป็นอาคารห้องแถวหรืออาคารพาณิชย์ที่มีลักษณะแบบห้องแถว ซึ่งกฎหมายกำหนดมาตรการป้องกันอัคคีภัยไว้เพียงเล็กน้อยเพื่อไม่ให้เป็นภาระต่อผู้ประกอบการส่วนใหญ่ทั่วประเทศ อาทิ ต้องมีถังดับเพลิงมือถือ เป็นต้น เพราะเห็นว่าเป็น
เพียงห้องแถว แต่ตรงนี้ต้องยอมรับความจริงห้องแถวประเทศไทยมีจำนวนมากจริงๆ น่าจะต้องลงมาดูรายละเอียดกันว่าจะป้องกันไม่ให้เกิดเหตุเช่นนี้อีกหรือลดให้มากที่สุด เพราะปัจจุบันผู้ประกอบจำนวนไม่น้อยที่นำห้องแถวไปประกอบธุรกิจที่เสี่ยงอันตรายไม่เพียงตัวของพวกเขาเองยังรวมไปถึงเพื่อนบ้านข้างเคียงด้วยที่อาจได้รับผลกระทบจาก
อันตรายนั้นเช่นกัน อาทิที่เพิ่งเกิดไปเมื่อต้นปีนี้ คือร้านขายแก๊สระเบิดที่พระปะแดง ห้องแถวพังทั้งแถบเลย นอกจากนี้ที่ยังไม่เกิดและอาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคตสำหรับห้องแถวที่นำมาประกอบกิจการเสี่ยงต่างๆในหลายรูปแบบ เช่น โพลีคลินิค หอพัก ห้องเช่า ร้านไสไม้ทำประต
ูหน้าต่างหรือเฟอร์นิเจอร์ โรงงานกล่องโฟม โรงงานเย็บผ้า คาราโอเกะ รวมทั้งเอาห้องแถวมาเป็นคลังเก็บสารไวไฟ เก็บผ้า เก็บกล่องลูกฟูก ร้านแก๊สออกซิเจน เป็นต้น
ในฐานะที่ศึกษางานด้านนี้มา อาคารเล็กๆนี่แหละคือตัวอันตรายเลยทีเดียว เพราะไม่ค่อยมีวิศวกรหรือเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องไปตรวจสอบ ไม่มีวิศวกรคอยให้คำแนะนำ หรือออกแบบให้เหมือนกับอาคารสูง อาคารขนาดใหญ่ เหตุเพลิงไหม้ตายกันทุกวันวันละคนสองคนก็อาคารขนาดเล็กหรือห้องแถวทั้งนั้น เพราะกฎหมายต่างๆเห็นเป็น
อาคารเล็กนั่นเอง ไปเน้นที่ขนาดอาคารเพียงอย่างเดียวไม่ได้ครับ กฎหมายสากลนานาประเทศจะเน้นไปที่กิจการหรือลักษณะการใช้อาคาร (occupancy use) มาตรการป้องกันอัคคีภัยจะต้องสอดคล้องกับความเสี่ยงของกิจการหรือการใช้อาคารไม่ใช่ขนาดอาคาร กฎหมายคงต้องยกเครื่องปรับปรุงกันให้ทันสมัย แก้ปัญหาสังคมตรง
จุดนี้ให้ได้ครับ เน้นแต่ถังดับเพลิงอย่างเดียวไม่เพียงพอครับ จากการศึกษากรณีเพลิงไหม้ต่างๆในอดีตมา พอที่จะประมวลผลได้ว่าหากต้องการเน้นการป้องกันการสูญเสียชีวิต หรือลดการสูญเสียชีวิตจากเพลิงไหม้ กฎหมายจะต้องเน้นมาตรการเรื่องทางหนีไฟที่ปลอดภัย และระบบแจ้งเหตุเพลิงไหม้ที่รวดเร็วให้สอดคล้องกับความเสี่ยงอันตรายที่มีอยู่ของแต่ละกิจการก็เพียงพอแล้วกับการรักษาชีวิตของคนที่อาศัยอยู่ในอาคารขนาดเล็กๆครับ การลงทุนก็ไม่ได้มากไปกว่าการให้มีถังดับเพลิงเท่าไหร่หรอกครับ ผมเห็นว่ากฎหมายและมาตรฐานความปลอดภัยเป็นหัวใจและเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการที่ทำให้บ้านเรือนและอาคารของเรามีความปลอดภัยมากและพัฒนาคุณภาพชีวิต
ของคนไทยให้ดีขึ้น คงจะหวังแต่จิตสำนึกของคนคงไม่พอหรอกครับ